Keratosis Pilaris หรือที่เรียกว่า ขนคุด เป็นสภาวะทางผิวหนังบนร่างกายที่อาจะเกิดการอุดตันของรูขุมขนที่ลึกและแห้งกว่าปกติมาก เป็นเนื้อหยายและเป็นตุ่ม ๆ ที่มีเส้นขนแทรกอยู่ หรือ รูขุมขนนูน เมื่อใช้มือลูบไปโดนบริเวณรูขุมขนจะรู้สึกสากมาก ๆ ซึ่งมักเกิดขึ้นที่บริเวณแขนท่อนบน ต้นขาหน้า หรืออาจจะเกิดขึ้นบริเวณส่วนต่าง ๆ บนร่างกาย โดยปกติแล้วจะไม่มีอาการคันหรือรู้สึกเจ็บใด ๆ หากไม่ไปสัมผัสโดน
ขนคุดมีอาการอย่างไร ?
สำหรับขนคุดถือเป็นปัญหาทางผิวหนังที่หลายคนหลีกเลี่ยง สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งจะพบมากในเด็กที่มีอายุน้อยและเกิดอาการได้ดังต่อไปนี้
- พบตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นตามผิวหนังบนร่างกาย
- มักเกิดขึ้นที่แขนท่อนบน ต้นขาหน้า และอาจจะเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดอาการคันและเจ็บหากไม่ไปสัมผัส
- ผิวหนังที่เป็นตุ่มจะมีผิวที่แห้งและหยาบกร้าน
- ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความชื้นในอากาศน้อย ทำให้ผิวบริเวณที่เป็นขนคุดแห้งกว่าเดิมได้
- เมื่อลูบที่ผิวหนังบริเวณที่มีขนคุดจะรู้สึกคัน
เมื่อเป็นแล้วควรพบแพทย์หรือไม่?
สำหรับอาการขนคุดที่เกิดขึ้นตามร่างกายไม่มีความจำเป็นต้องไปพบแพทย์ แต่หากมีอาการที่ร้ายแรงต่าง ๆ เช่น รู้สึกคันตลอดเวลา ผิวแห้งมากกว่าปกติ มีเลือดออกตามรูขุมขน หรือในกรณีที่เกิดขนคุดขึ้นบริเวณที่ทำให้เสียความมั่นใจ จนทำให้เกิดความวิตกกังวลไม่สบายใจ ส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยควรที่จะไปพบแพทย์ผิวหนังที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาขนคุด เพื่อรับคำปรึกษาหรือหาวิธีรักษาให้มีสุขภาพผิวพรรณที่ดีขึ้น แน่นอนว่าสภาพผิวที่สวยงามส่งผลต่อสภาพจิตใจที่ดีเช่นกัน
ต้นเหตุการเกิดขนคุด
ขนคุดมีต้นเหตุมาจากความผิดปกติของผิวหนัง ที่สะสมเนื้อเยื่อเคราติน (Keratin) มากเกินความจำเป็น โดยร่างกายของคนปกติจะมีเคราตีนเป็นโปรตีนที่เซลล์ผิวสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันการดูดซึมสารอันตรายต่าง ๆ เรียกได้ว่าเป็นกลไกป้องกันการติดเชื้อทางผิวหนังของร่างกาย ซึ่งหากมีการสะสมของเนื้อเยื่อเคราตีนที่มากเกินไปจะทำให้เกิดการอุดตันบริเวณรูขุมขน ส่งผลให้ขนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามปกติของร่างกาย และเกิดเป็นขนคุดม้วนอยู่ใต้ผิวหนัง ในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่า อะไรเป็นสาเหตุของการสะสมเคราตินที่มากเกิดความจำเป็นจนทำให้เกิดปัญหาขนคุดตามมา ทำใด้เพียงตั้งข้อสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับโรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดกันมา หรือ สภาวะผิวแพ้ง่าย และสภาวะทางผิวหนังอื่น ๆ เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการผิวแห้งอยู่แล้วมักมีโอกาสเกิดขนคุดได้มากกว่าปกติ และอาจจะมีอาการหนักมากกว่าเดิมถ้าเข้าสู่ฤดูหนาว เพราะมีความชื้นในอากาศน้อยซึ่งเป็นต้นเหตุให้ผิวแห้งแตกและขาดความชุ่มชื้น
การตรวจรักษาขนคุดจำเป็นไหม
โดยปกติของคนที่มีขนคุดเกิดขึ้นตามร่างกายจะไม่มีความจำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา เพราะเป็นสภาวะที่ไม่ได้ส่งผลร้ายแรง หรือเป็นโรคติดต่อทางร่างกาย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วยว่ามีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด หากมีความจำเป็นแพทย์จะตรวจวินิจฉัย ด้วยการตรวจดูสภาพผิวหนังบริเวณที่เกิดขนคุดเพื่อวิเคราะห์ หรือทำการศึกษาอาการของผู้ป่วย เพื่อป้องกันอาการขนคุดเรื้อรัง รวมถึงดูเรื่องความจำเป็นที่จะต้องรักษาอย่างต่อเนื่องหรือไม่ โดยที่ไม่ต้องทำการทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติม
สำหรับในด้านความสวยความงามแพทย์จำเป็นต้องแนะนำเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจว่า ขนคุดไม่ได้เป็นโรคติดต่อ หรือส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมแต่อย่างใด และสามารถหายได้เองตามธรรมชาติ เพื่อให้ผู้ป่วยคลายความวิตกกังวลลง อย่างไรก็ตาม การตรวจวินิจฉัยและการศึกษาอาการขนคุด จะให้ความสำคัญไปที่การตรวจสอบความน่าจะเป็นที่อาจจะเกิดอาการเรื้อรังอื่น ๆ ตามมา รวมถึงหาวิธีรักษาด้วยเครื่องมือหรือตัวยาอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปด้วย
การดูแลรักษาขนคุดเบื้องต้น
การดูแลขนคุดเบื้องต้นทำได้ง่ายมาก โดยปกติเมื่อมีอายุมากขึ้น ขนคุดจะค่อย ๆ จางหายไปเอง หรือสามารถใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้นในการดูแลรักษาผิว เพื่อทำให้บริเวณที่เป็นขนคุดมีการปรับสภาพผิวที่ดีขึ้นได้ ไม่แห้งกร้าน แต่หากใช้แล้วไม่สามารถช่วยให้อาการขนคุดดีขึ้นหรือจางหายไป ก็สามารถไปพบแพทย์เพื่อขอผลิตภัณฑ์ที่รักษาอาการขนคุดโดยตรงมาทาได้ แต่การใช้ผลิตภัณฑ์ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น โดยส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำชนิดของตัวยา หรือวิธีการรักษา ดังนี้
- ครีมช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ทาครีมที่มีส่วนผสมของกรดแลคติก กรดอัลฟาไฮดรอดซี กรดยูเรีย หรือ กรดซาลิไซลิก เนื่องจากส่วนผสมดังกล่าวจะช่วยให้ผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออก และช่วยกำจัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพให้หมดไป แถมยังช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวที่แห้งกร้านให้กลับมามีความนุ่มน่าสัมผัสมากขึ้น ทั้งนี้แพทย์จะแนะนำขนาดการใช้ และมีวิธีการทาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย โดยกรดที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์อาจจะส่งผลให้ผิวหนังบริเวณที่ทามีอาการคัน ระคายเคือง หรือ แดง ซึ่งไม่เหมาะสมกับเด็กที่อายุยังน้อย เพราะอาจจะส่งผลร้ายแรงต่อผิวหนังมากกว่าผู้ใหญ่
- ครีมป้องกันการอุดตันรูขุมขน แพทย์จะแนะนำให้ทาครีมที่มีส่วนผมของวิตามิน A เช่น ครีมเตรทติโนอิน ที่สามารถช่วยให้ระบบการทำงานของเซลล์ผิวดีขึ้นและป้องกันการอุดตันของรูขุมขนได้มากขึ้น โดยครีมชนิดนี้อาจจะทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง แห้งแตก ได้ง่าย และไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ซึ่งแพทย์จะไม่แนะนำให้ทาครีมชนิดนี้ พร้อมกับหาวิธีรักษาทางอื่นแทน
- เพาซ์ดายเลเซอร์ (Pulse Dye Laser) หรือ (Intense Pulsed Light: IPL) เลเซอร์อพีแอล จะช่วยลดอาการแดงของผิวหนังได้ แต่จะไม่ลดความหยาบกร้านของผิวหรือบริเวณที่มีผิวขรุขระได้
- เลเซอร์กำจัดขน การทำเลเซอร์กำจัดขนเป็นวิธีหนึ่งที่น่าสนใจและกำลังเป็นที่นิยมมาก เพราะสะดวกรวดเร็วและง่ายต่อการกำจัดขนที่ไม่พึงประสงค์ออกไปจากร่างกาย
อาการแทรกซ้อนของขนคุด
อาการแทรกซ้อนของขนคุดไม่มีอะไรที่เป็นอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกาย แต่มักจะส่งผลให้เกิดความรำคาญใจหรือไม่สบายใจมากกว่า ยิ่งถ้าเกิดขนคุดในจุดที่ไม่พึงประสงค์ และเกิดกับคนที่มีความวิตกกังวลกับรูปลักษณ์ภายนอก รักสวยรักงาม กลัวคนอื่นเห็นแล้วอาจจะเป็นจุดสนใจที่ไม่น่ามอง นอกจากนี้ทางการแพทย์ยังตรวจพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการขนคุดมักจะเป็นโรคผิวหนังอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ผิวแห้งซึ่งมีส่วนในการเกิดขนคุดได้ง่ายกว่าผิวชนิดอื่น ผิวหนังอักเสบแพ้ง่าย รวมถึงโรคผื่นจากภูมิแพ้ผิวหนัง ที่มักพบกับผู้ป่วยที่มีขนคุดเกิดขึ้นบนร่างกาย
การดูแลและป้องกันขนคุด
แม้ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่สามารถป้องกันการเกิดขนคุดได้อย่างเด็ดขาด แต่เราสามารถป้องกันการเกิดขนคุดเบื้องต้นได้จากการดูแลรูปลักษณ์ภายนอกของเราให้ดีอยู่เสมอ และหมั่นดูแลผิวให้มีความชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา อย่าปล่อยให้ผิวแห้งเป็นเวลานาน ซึ่งมีวิธีการดูแลผิวให้อยู่ในสภาพที่ดีอยู่หลายวิธีดังนี้
- หยุดเกาบริเวณที่มีรูขุุมขนที่อาจจะเกิดขนคุด หรือใช้อุปกรณ์ขัดผิวรุนแรงเกินไปขณะชำระล้างสิ่งสกปรกบนร่างกาย
- การอาบน้ำควรใช้น้ำอุ่น ๆ ที่มีอุณหภูมิไม่สูงมากจนเกินไปเพราะอาจจะทำให้ผิวสุก และการอาบน้ำแต่ละครั้งควรมีเวลาที่เหมาะสมไม่นานเกินไป เพื่อไม่ทำให้ร่างกายสูญเสียไขมันที่ผิวหนัง ซึ่งอาจก่อให้เกิดผิวแห้งแพ้ง่ายตามมาได้
- ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเรือนร่าง ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้มีผิวนุ่มชุ่มชื้นมากขึ้น ไม่ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวแห้งและแตกได้ง่าย
- การว่ายน้ำ ควรมีเวลากำหนดการเล่นน้ำในแต่ละครั้ง ซึ่งไม่ควรอยู่ในน้ำนานเกิน 15 – 30 นาที เพราะสารคอลลีนที่อยู่ในสระว่ายน้ำอาจจะเข้าทำลายเซลล์ผิวชั้นนอกออก และเกิดผลเสียที่ร้ายแรงกว่าขนคุดตามมาได้
- ครีมบำรุงผิวบนร่างกาย ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ ปิโตรเลียม เจลลี่ (Petroleum Jelly) ลาโนลิน (Lanolin) หรือกลีเซอรีน (Glycerine) ซึ่งทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวบนร่างกาย และควรทาหลังจากที่เพิ่งอาบน้ำเสร็จใหม่ ๆ เพราะรูขุนขนกำลังเปิด เพื่อให้ผิวหนังได้รับประสิทธิภาพที่ครบถ้วน
- งดการใส่เสื้อผ้าที่เข้ารูป หรือ รัดรูปมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้เซลล์ผิวชั้นนอกขาดการเจริญเติบโตที่ดี และอาจจะส่งผลให้เกิดขนคุดขึ้นบริเวณที่มีการรัดแน่นมากเกินไปได้